หน้าเว็บ

วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อายุ 6 เดือน


จากนี้ไปอาหารเสริมซึ่งก็คืออาหารชนิดต่างๆ ที่ลูกจะได้รับนอกเหนือไปจากนมแม่ต้องเข้ามามีบทบาทในการกินของลูกแล้ว เพื่อให้ร่างกายของลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสมอง ซึ่งในวัย 1-3 ขวบเป็นช่วงเวลาที่สมองและร่างกายเจริญเติบโต  มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว  การดูแลเรื่องอาหารเป็นความสำคัญอย่างหนึ่ง การขาดสารอาหารบางชนิดจะส่งผลต่อตัวลูก   โดยเฉพาะธาตุเหล็กจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกต่อเนื่องไปในอนาคตได้
            ในช่วงนี้น้ำหนักของลูกจะเพิ่มขึ้นเดือนละ 400-500 กรัม นับว่าลูกโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก  สารอาหารที่ได้จากน้ำนมแม่เพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา  หรืออาจมีการเพิ่มอาหารอื่นอีกเล็กน้อย เริ่มไม่เพียงพอเสียแล้ว  ด้วยวัยที่กำลังซุกซน  กำลังเรียนรู้  และกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นมากมาย  ทำให้ลูกต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น  อาหารจึงต้องเข้ามามีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของลูกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
            นับว่าเป็นเวลาที่พอเหมาะพอดี เพราะในช่วงอายุนี้ร่างกายของลูกได้สร้างน้ำย่อยสำหรับย่อยอาหารอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากน้ำนมแม่ได้แล้ว  รวมทั้งกล้ามเนื้อสำหรับการบดเคี้ยวและการกลืนก็พร้อมที่จะฝึกการทำงาน  ฟันลูกก็เริ่มดันเหงือกขึ้นมาแล้ว   ลูกพร้อมที่จะรับอาหารแทนนมแม่  1  มื้อ  และเป็นเรื่องที่ดีที่แม่ได้เฝ้าฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ถึงรสชาติอาหารชนิดต่างๆมาบ้างแล้ว  การให้อาหารจึงเป็นเรื่องง่ายๆสบายๆ  
            เมื่อเริ่มให้อาหารลูก  ควรให้อาหารแบบเดิมไปสัก 5-7 วัน  เพื่อให้ลูกได้รับรู้รสชาติของอาหารแต่ละอย่างเสียก่อน  และยังเป็นการทดสอบว่าลูกแพ้อาหารชนิดนั้นๆหรือเปล่า  หากมีอาการแพ้แสดงออกมาแม่ก็จะรู้ได้  จากนั้นจึงเปลี่ยนชนิดของอาหาร  เมื่อแม่เริ่มให้อาหารแก่ลูก  ต้องไม่ลืมว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ร่างกายลูกจะต้องปรับตัว   จึงควรค่อยเป็นค่อยไป  อาหารเสริมควรเป็นอาหารอ่อนๆ  กระเพาะของลูกยังใหม่ต่ออาหารเหล่านี้อยู่
            อายุ  6  เดือน  ลูกเริ่มนั่งได้   ทำให้แม่สามารถจัดที่นั่งสำหรับเด็กบนโต๊ะอาหาร  เพื่อฝึกให้ลูกกินอาหารจากช้อน  ขณะป้อน   ลูกอาจจะแย่งช้อนจากมือแม่เพื่อจะกินเอง  เพราะลูกรู้สึกว่ามันน่าจะสนุกกว่าถ้าจะได้ถือช้อนกินเอง  ในเวลาอาหารหลายครั้งจึงต้องเกิดการหกเลอะตัวลูกหรือโต๊ะกินข้าว  แต่ก็คุ้ม  เพราะเมื่อลูกโตขึ้นกว่านี้เขาจะสามารถช่วยตัวเองได้  แม่อาจลดการยื้อแย่งช้อนของลูก  ด้วยการหาผักผลไม้ เช่น  แครอท  แตงกว่า  ฝรั่ง  ฯลฯ หั่นเป็นแท่งยาวพอเหมาะกับมือของลูกให้ลูกถือ  แม่ถือโอกาสนี้ฝึกให้ลูกดื่มนมจากถ้วยไปพร้อมๆกันได้เลย  และค่อยๆให้ลูกเลิกกินนมจากขวดไปด้วย  และถ้าแม่ใจเข็งพอที่ฝึกให้ลูกเลิกกินนมตอนกลางคืน  ก็เริ่มได้เลยเช่นกัน
            อาหารของลูกในช่วงวัยนี้ยังต้องบดละเอียดอยู่  เพราะฟันของลูกเพิ่งจะเริ่มขึ้น  แต่ไม่ต้องเหลวเป็นน้ำ  ให้เป็นอาหารที่มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว  อาจเป็นข้าวบดใส่ปลาช่อนกินกับซุปผักตำลึงบด  หรือข้าวบดกับหมูสับละเอียดกินกับซุปฟักทองบด  แล้วเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆสลับกันไป  เพื่อลูกจะได้รับสารอาหารหลากหลายและได้รู้รสชาติของอาหารชนิดต่างๆ  โดยในวัยนี้ลูกกินเนื้อสัตว์ได้ถึง  1  ช้อนโต๊ะ  หรือไข่แดงต้มสุก  1  ฟอง  จัดผักหมุนเวียน  เช่น ฟักทอง  แครอท  กะหล่ำดอก  กะหล่ำปลี  ฯลฯ  ให้กับลูกด้วย  ตอนนี้ลูกกินอาหารได้ถึง  1  ถ้วยแทนนม  1  มื้อ  ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว  จัดหาผลไม้สุกที่เนื้อนุ่มย่อยง่าย เช่น มะละกอสุก  มะม่วงสุก  ขูดเนื้อ  หรือกล้วยน้ำว่าสุกครูดเอาแต่เนื้อผสมน้ำให้เหลวลงเพื่อลูกจะได้กลืนได้ง่าย  หรือผลไม้อื่นๆเป็นอาหารว่าง  1  มื้อ
            อย่างไรก็ตามแม้ว่าลูกจะอายุ  6  เดือนแล้ว  แต่ถ้าลูกไม่พร้อมรับประทานอาหาร  เช่นลูกไม่ยอมกลืน  อมข้าว  หรือบ้วนข้าวทิ้ง  ก็ไม่ต้องไปบังคับ  หยุดให้อาหารไปก่อน  อีก 2-3  วันค่อยลองเริ่มต้นใหม่  ลูกอาจจะยังไม่พร้อม  ไม่ชินกับอาหาร  หรือลูกยังอาลัยอาวรณ์นมแม่อยู่  หรือร่างกายของลูก  ลิ้นสัมผัสรสอาหาร  ยังไม่พร้อม  แต่อย่างไรก็ตาม  ในที่สุดลูกจะยอมรับอาหารได้เอง  ขอให้แม่ใจเย็นๆ
            อีกอย่างที่แม่ควรทำความเข้าใจและตระหนักว่า  ให้เวลาแห่งการกินอาหารของลูกเป็นเรื่องง่ายๆสบายๆ   เพื่อทั้งแม่และลูกจะได้ไม่เครียด  ฉะนั้นให้เลือกเวลาที่แม่สะดวกไม่เร่งรีบ  แม่จะได้ค่อยๆป้อนอย่างใจเย็น  ลูกจะได้กินอย่างสบายๆ  บรรยากาศไม่เคร่งเครียด  ให้อาหารแก่ลูกในเวลาเดียวกันทุกๆวัน  เช่น  เวลา  10  โมงเช้า  หรือเที่ยงของวัน  หรือตอนเย็น  หากแม่ต้องทำงานในเวลากลางวัน  เพราะลูกเองก็ต้องปรับตัวและปรับเวลาสำหรับกิจวัตรใหม่นี้เช่นกัน
            การปรุงอาหารให้ลูกไม่ควรปรุงรสอาหารมาก  ไม่ต้องใช้เกลือมาก  เพราะไตของลูกยังไม่พร้อมทำงานหนัก  ให้รสชาติของอาหารมาจากอาหารที่สดใหม่จะดีกว่า
            ถ้ากลัวว่าลูกจะแพ้อาหารทะเล  ก็ให้เริ่มจากปลาน้ำจืดก่อน  เช่น  ปลาช่อน ปลาเนื้ออ่อน  ปลานิล  ฯลฯ
            แม้ว่าลูกจะโตพอที่จะกินอาหารหลักได้  1  มื้อแล้ว  แต่มื้ออื่นๆที่เหลือยังคงเป็นการให้นมแม่เช่นเดิม  ในน้ำนมแม่ยังคงมีสารอาหารที่ดีและเป็นประโยชน์กับลูกอย่างอเนกอนันต์น้ำนมแม่จึงยังมีความจำเป็นกับลูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม